ตอนที่ 1 : จิตวิญญาณผู้ประกอบการ

7 บทเรียนควรรู้ ไม่ว่าคุณจะเป็น SME หรือ Startup 

สวัสดีครับเพื่อนๆ (พี่ๆ น้องๆ ลุงๆ ป้าๆ ได้หมดแหละ เอาที่สบายใจอยากเป็นอะไรก็เป็นครับ) จริงๆแล้ว บทความนี้ตั้งใจจะเขียนตั้งแต่ตอนดู ซีรีย์เรื่อง Start-Up ทางช่อง Netflix จบใหม่ๆเลย เพราะคิดว่าน่าจะเป็นบทความที่หลายคนน่าจะให้ความสนใจอยากอ่าน เพราะกำลังอยู่ในเทรนด์ แต่ไปๆมาๆ กลายเป็นว่า บอกให้น้องสาวช่วยทำภาพกราฟฟิคให้แล้วดองไว้ซะงั้น เพราะไม่ว่างมานั่งเขียน เพราะงานยุ่งสุดฤทธิ์ เลยโดนมันด่าด้วยเพราะไปเร่งให้มันทำเสร็จเร็วๆ แล้วดันไม่เขียนอะไรออกมาสักอย่าง 555+

สุดท้ายกลายเป็นว่าคนอื่นทำออกมาเยอะแยะเลย นั่งอ่านของคนอื่นๆก็เพลินดี เลยยิ่งดองเอาไว้นานเลย พอดีวันนี้กลับบ้านคิดงานไม่ค่อยออก เพราะมีเรื่องงานให้ต้องคิดหลายๆเรื่อง เลยหาอะไรทำให้มันง่วงๆซะหน่อย จะได้นอน เลยถือเป็นโอกาสอันนี้ มาเขียนบทความนี้ซะเลย [แค่เริ่มต้นก็ทำท่าจะง่วงซะแล้ว Zzz]

หัวข้อบทความนี้อาจจะดูน้ำเน่าไปสักหน่อย แต่ก็เป็นบทสนทนาที่ผมก็ชอบคุยกับเพื่อนๆที่ทำธุรกิจอยู่ในฐานะเจ้าของกิจการเหมือนกันอยู่เป็นประจำ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะคุยกันในประเด็น “ความดื้อด้าน ไม่ยอมแพ้ ของเจ้าของกิจการ” แต่จะให้ตั้งชื่อบทความแบบนั้นมันคงจะดูไม่ค่อยเท่สักเท่าไร เลยหาทางทำให้มันดูเว่อร์ๆขึันมาอีกหน่อย เลยกลายเป็นบทความนี้ที่ชื่อว่า “จิตวิญญาณผู้ประกอบการ”

ก่อนอื่นเลยสำหรับเพื่อนๆที่อาจจะไม่เคยดูซีรีย์ของทาง Netflix ที่ผมเอามาเป็นภาพ “ปลากรอบ” บทความนี้ ผมก็ขอแนะนำเบื้องต้นให้พอทราบกันคร่าวๆก่อนเลยก็คือ

เรื่องแรกชื่อว่า Itaewon Class เป็นซีรีย์ที่แปลงมาจากการ์ตูนเกาหลีที่ชื่อเดียวกัน โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจของ “พัคแซรอย” เด็กหนุ่มวัยเรียนที่มีนิสัยขวานผ่าซาก ยอมหักไม่ยอมงอ จนเป็นเรื่องราวทั้งทำให้พ่อโดยไล่ออกจากงานประจำ อีกทั้งยังต้องติดคุกติดตารางเพราะไม่ยอมก้มหัวให้กับสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง ถ้าใครดูตอนแรกก็นึกว่าจะเป็นซีรีย์ แอ็คชั่น-ดราม่า ไปๆมาๆ อ้าวกลายเป็นซีรีย์เกี่ยวกับการทำธุรกิจไปซะได้ เพราะว่าพระเอกหัวเกาลัด ตั้งปณิธานเอาไว้แน่วแนวว่าจะต้องทำธุรกิจให้ยิ่งใหญ่กว่า พ่อของเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ทำให้เขาต้องติดคุกโดยการใช้อิทธิพลแบบผิดๆให้ได้ เลยกลายเป็นเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่หัดทำธุรกิจเล็กๆสไตล์ SME ที่วาดฝันจะไปสู้กับยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ เหมือนคนเปิดร้านขายของชำ ตั้งใจจำไปสู้กับ ร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมงที่ไปที่ไหนก็เห็นซะงั้น

[บทวิเคราะห์] #มีสปอยเนื้อหา

สิ่งที่ผมเองชอบเกี่ยวกับ พัคแซรอย นี่ก็คือความบ้าในการเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา พอออกมาจากคุก ก็ไปทำงานประมงเก็บเงินมาเปิดร้านอาหาร บริหารธุรกิจอะไรก็ไม่เป็น ทำการตลาดก็ไม่ได้ สรุปคือมันไม่เก่งอะไรสักอย่างเลยนี่หว้า ถ้าไม่เจอทีมงานที่ดี มีความสามารถ มันไม่น่าจะไปรอดได้เลย แต่จริงๆแล้วก็นั่นอาจจะเป็นหนึ่งในที่สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าของกิจการก็ได้ คือ เราไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดในห้อง แต่ควรจะเป็นคนที่มีความฝัน และรู้เป้าหมายที่ต้องการในชีวิตที่ชัดเจนที่สุดกว่าใคร เพราะว่าวันที่ทุกคนสงสัยในตัวเรา มีแค่ตัวเราเองนี่แหละที่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ดูอย่างพี่หัวเกาลัดสิ ร้านก็โดนยึดที่ เจรจาการลงทุนก็โดนโกง แค่ทำธุรกิจนี่ก็ว่ายากแล้ว ยังมีศัตรูที่เป็นรายใหญ่คอยรังแกอีก แต่พี่แกไม่สนใจหน้าไหนทั้งนั้น เดินหน้าลุยต่ออย่างเต็มที่เสมอ ล้มก็ลุกตลอดเวลา

เอาจริงๆแล้วผมเอง หรือ ใครหลายๆคนก็คิดเหมือนกันว่า มุทะลุขนาดนี้ ตัวคนเดียวไม่มีทีมงานไม่รอดแน่ๆ แต่ถ้าจะมองอีกมุม ก็เพราะเป็นคนแบบนี้ต่างหาก ถึงสามารถดึงตัวคนเก่งๆให้มาอยู่รอบตัวเพื่อทำงานด้วยกันได้มากมาย จะเรียกว่า เสน่ห์แบบเถื่อนๆของการเป็นเจ้าของกิจการที่มี จิตวิญญาณผู้ประกอบการ แบบเกินร้อยก็ว่าได้ ที่สำคัญ พัคแซรอยยังเป็นคนที่ใส่ใจทีมงานเป็นแบบสุดๆ เพราะว่าหากมีเรื่องผิดพลาดก็จะเป็นคนรับไว้เอง หากมีเครดิตผลงานดีก็จะยกให้ทีมงานเสมอ และนี่อาจจะเป็นเคล็ดไม่ลับของพัคแซรอย เพราะถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้เป็นผู้บริหารธุรกิจที่เก่งกาจ (แฟนเก่งก็พอใช่ไหม 555+) แต่ก็สามารถเป็น เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ฉะนั้นใครที่อยากสัมผัสความรู้สึกของการเป็นเจ้าของกิจการแบบบ้าเลือด ไม่ได้ไม่ได้ต้องได้ ก็อาจจะลองดู พัคแซรอย เป็นตัวอย่างก็ได้เช่นกัน

[ เฮ้ย! ทำไปๆมาๆ เหมือนมาเขียนรีวิวซีรีย์วะเนี่ย งงจริงๆ ไม่เป็นไร เขียนไปเขียนมาเริ่มจะง่วงแล้วจริงๆด้วยเรามาดูต่อเรื่องที่สองกันเลยดีกว่า ]

เรื่องที่สองที่มีพระรอง เอ้ย พระเอก [ ช่วยไม่ได้คนเขียนบทความ #ทีมหัวหน้าฮัน] อยู่ในภาพอีกคนก็คือเรื่องที่ชื่อ Start-Up ซึ่งเป็นซีรีย์ที่ฉายผ่านทาง Netflix เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นซีรีย์เกาหลีอีกเรื่องที่ทำให้คนที่ควรเป็นพระเอกกลายเป็นพระรอง ส่วนพระรองกลายเป็นพระเอกซะงั้นไปได้ เอาเถอะเรื่องมันก็จบไปแล้วยอมมันก็ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ “นัมโดซาน” โปรแกรมเมอร์ฝีมือฉมังเวทย์ที่ทำธุรกิจอะไรไม่เป็นสักอย่าง แค่เขียนโค้ดเก่งเฉยๆ ทำธุรกิจเปิดบริษัทมาตั้งนานก็ไม่เติบโตจนได้ไปเข้าโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่ชื่อว่า Sandbox และพยายามสู้สุดฤทธิ์สไตล์ธุรกิจ Start-up เพื่อทำให้นางเอกไม่ผิดหวัง และสุดท้ายก็สามารถเติบโตจนกลายเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์นได้สำเร็จ แต่งงานกับนางเอก Happy Ending (กลายเป็นหนังรักน้ำเน่าไปเฉยเลย) ก็นับว่าเป็นซีรีย์ที่เข้าถึงคนได้มากมาย เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี และมีแทรกเกร็ดความรู้การเริ่มต้นธุรกิจ กฎหมาย เล่ห์เหลี่ยมในวงการธุรกิจให้ดูสนุกๆเอาความรู้ได้บ้างนิดหน่อย 

[บทวิเคราะห์] #มีสปอยเนื้อหา

อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงรู้อยู่แล้วว่าผมไม่ค่อยจะชอบพระเอกของเรื่องนี้สักเท่าไร ทั้งเอาแต่ใจ ไม่รอบคอบ วู่วาม คิดฝันอะไรได้ไปเรื่อยๆไม่มีแบบแผน เชื่อคนง่ายโดนหลอกให้ไปขายหุ้นบริษัทตัวเองทิ้งด้วยซ้ำ คือ พอดูแล้วก็รู้สึกว่าใครทำธุรกิจแบบนี้ เจ๊งแน่นอน ยังไงก็ไปไม่รอดหรอก โชคยังดีที่พระเอกยังมี Hardskill ระดับเทพก็คือทักษะการเขียนโค้ดชั้นยอด ซึ่งยังพอทำมาหากินได้อยู่ ส่วนตัวเวลาดูไปก็รู้สึกแค่ว่า ก็แค่ Specialist ที่มีฝีมือเก่งกาจ มันเหมาะตรงไหนที่จะเอามานำเสนอเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการที่ไล่ล่าความฝันของตัวเองได้ จนกระทั่งมาช่วงหนึ่งของตอนท้ายๆเรื่อง ที่ว่ามีการแข่งขันประกวดเพื่อทำระบบรถขับเคลื่อนอัจฉริยะแบบที่ไม่ต้องใช้คนขับในเมืองอัจฉริยะที่จะเป็น Smart City ซึ่งในวันนั้นมีแต่คนไม่เห็นด้วยที่จะไปเสียทรัพยากรบริษัทเพื่อลงแข่งขันซึ่งถ้าแพ้ขึ้นไม่ ก็เสียทั้งเวลา และเงิน แทนที่จะไปทำอะไรที่มันชัวร์ๆว่าทำเงินได้แน่นอนไปแทน และที่สำคัญยังต้องไปงัดข้อกับเจ้าใหญ่ๆในตลาดอีกหลายคนด้วย แต่วันนั้น นัมโดซาน คิดว่าคุ้มค่ากว่าที่จะเสี่ยงเพื่อโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่กว่า และถึงต่อให้ไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่ก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว (มันไม่ได้พูดแบบนี้หรอกนะ แปลเองหล่อๆ ฮ่าๆ) ซึ่งจุดนั้นเลยที่ทำให้รู้สึกว่า เฮ้ยมันต้องแบบนี้สิ ความบ้าแบบนี้แหละที่มันใช่ จิตวิญญาณผู้ประกอบการ ที่ไม่กลัวที่จะล้มเหลวเพราะบางทีการหกล้มไปข้างหน้า ก็น่าจะดีกว่าเต๊ะท่าอยู่เฉยๆ ก็เลยโอเค ให้แต้มคะแนนความเป็นผู้ประกอบการมันซะหน่อย +1

สุดท้ายแล้ว จิตวิญญาณผู้ประกอบการ คืออะไร ?

ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพื่อนๆก็ลองไปนั่งนอนคิดดูก็ได้ครับ หรือถ้าคิดไม่ออก จะลองเปิดดูซีรีย์สองเรื่องนี้ดูก็ได้ เผื่อจะได้อารมณ์ฮึกเหิมมาบ้างสักเล็กน้อยก็ยังดี แต่ที่ผมรู้แน่ๆก็คือ ในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจกับธุรกิจ หรือ เราอาจจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจอะไรที่มันอาจจะโหดร้ายเพื่อทำให้ธุรกิจเราเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้ ถ้าวันนั้นคุณยังพร้อมจะสู้ต่อ ต่อให้ล้ม 9 ครั้ง แต่ก็ลุกให้ได้ 10 รอบ คุณก็มั่นใจได้เลยว่า จิตวิญญาณผู้ประกอบการ ของคุณเริ่มทำงานแล้วล่ะ !

ปล. เพื่อนๆผมจะชอบบอกว่า จริงๆแล้วคนแบบนี้น่าจะถูกเรียกว่า “คนบ้า” ก็ว่าได้ ส่วนผมจะชอบหันไปยิ้มแล้วตอบว่า “เรียกแค่…บ้าเองเหรอ ดีจัง :D”